Reproductive Medicine: IVF

วันนี้เราด้วยเรื่อง Biotech กันต่อเลยครับ โดยเรื่องที่จะมาเล่าวันนี้คือเรื่องเกี่ยวกับ Reproductive Medicine หรือ เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ 

ปัญหาการมีบุตรยาก นับว่าเป็นปัญหาใหญ่และพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่ คู่สามีภรรยาต่างฝ่ายต่างออกไปทำงาน ทำให้ส่วนใหญ่แล้วคนไทยมีลูกกันในอายุที่มากขึ้น 

     อายุที่เยอะขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการมีบุตรน้อยลง และ ความเสี่ยงในการเกิดโรคทางพันธุกรรมมีมากขึ้น (โดยเฉพาะคุณแม่ที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป) Reproductive Medicine เลยเข้ามามีบทบาท มากขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการมีบุตร และลดความเสี่ยงของเด็กที่เกิดมามีโรคทางพันธุกรรม

IVF หรือ In Vitro Fertilization หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า “การทำเด็กหลอดแก้ว” 

      ต้องเล่าก่อนว่า ปกติแล้วการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ จะเกิดเมื่อ คู่สามีภรรยา มีเพศสัมพันธุ์กัน และอสุจิจากฝ่ายชายเข้าไปผสมพันธุ์ (Fertilization) กับไข่ในท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) ของฝ่ายหญิง จากนั้นตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมพันธุ์ (Embryo) ก็จะเคลื่อนที่มาฝังตัวที่ผนังมดลูก

      ทีนี้ภาวะมีบุตรยากเนี่ย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นท่อนำไข่ตีบหรือตัน ระดับฮอร์โมนของฝ่ายหญิงไม่ปกติ จำนวนอสุจิของฝ่ายชายไม่เพียงพอ ทำให้การผสมพันธุ์โดยธรรมชาติ อาจจะเกิดได้ยาก 

      การทำ IVF เลยเริ่มจากคุณหมอจะกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงและนำออกมาภายนอกร่างกาย เพื่อมาผสมพันธุ์อสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลอง (เลยเรียกว่าเด็กหลอดแก้ว) และเลี้ยงให้เป็น Embryo ขณะเดียวกันก็จะทำการปรับระดับฮอร์โมนของฝ่ายหญิง เพื่อให้มีการเตรียมผนังมดลูกสำหรับการฝังตัว Embryo เข้าไป นอกจากนั้นก่อนที่มีการใส่ Embryo เข้าไปในมดลูก ว่าที่คุณพ่อ คุณแม่ สามารถตรวจพันธุกรรมของ Embryo ได้ด้วยว่า มีความผิดปกติทางพันธุกรรมไหม เพื่อเพิ่มโอกาสในการฝังตัว และป้องกันโรคทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับลูก (ขออธิบายใน EP. หน้านะครับ)

      การทำ IVF อาจจะไม่ได้ผล ในทุกครั้งที่ใส่ Embryo เข้าไป แต่สามารถช่วยเพิ่มอัตราการมีบุตรได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดทางคู่สามีภรรยา จะต้องมีการปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอย่างละเอียด 

 

อ้างอิง

  1. รายงานประจำปี 2565. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์
  2. Mayo Clinic. Sept. 01, 2023. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/in-vitro-fertilization/about/pac-20384716