สถานการณ์โรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญเนื่องจากเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สถานการณ์โรคมะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาที่สําคัญของหลายประเทศเช่นเดียวกัน จากสถิติในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยใหม่ราว 62,406 ราย และผู้ป่วยครึ่งหนึ่งของจํานวนนี้จะเสียชีวิตลง โดยประเทศอินโดนีเซียมีอุบัติการณ์การเกิดโรคสูงที่สุด 23.4 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย
สําหรับประเทศไทยมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ โดย ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงอายุระหว่าง 35-60 ปี จากรายงาน สํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ ระบุว่าในปี พ.ศ. 2560 มีจํานวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 2,251 คน หรือคิดเป็น 6.8 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย
สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าการติดเชื้อ HPV (Human papillomavirus, HPV) เป็นสาเหตุสําคัญที่ทําให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) คืออะไร?
เชื้อแปปิโลมา หรือเอชพีวี (HPV) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย มักไม่มีอาการแสดงใด ๆ จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบเชื้อชนิดนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18
เชื้อ HPV มีอยู่มากกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งมีประมาณ 15 สายพันธุ์ที่ทําให้เกิดโรค เชื้อ HPV แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1.กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (High risk HPV) กลุ่มที่ทําให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูงได้แก่ HPV 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 52, 56 โดยเฉพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ HPV 16 และ 18
2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low risk HPV) กลุ่มที่ทําให้เกิดโรคหูดต่างๆ ได้แก่ HPV 1, 2, 3, 4, 6, 7,8 ,10, 11 โดยพบว่าเชื้อไวรัส HPV 6 และ 11 เป็นสาเหตุหลักร้อยละ 90 ของการเกิดโรคหูดหงอนไก่(Condyloma accuminata) เชื้อกลุ่มนี้ทําให้เกิดมะเร็งปากมดลูกต่ำ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
นอกจากการติดเชื้อ HPV จะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีปัจจัยรวมอื่นๆ ที่ทําให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้สูงขึ้น ได้แก่
1.ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง
1.1 การมีคู่นอนหลายคน ความเสี่ยงสูงขึ้นตามจํานวนคู่นอนที่เพิ่มขึ้น
1.2 การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปีซึ่งเป็นช่วงที่มีการกลายรูปของเซลล์ปากมดลูกมาก ช่วงนี้จะมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมากโดยเฉพาะเชื้อ HPV
1.3 การตั้งครรภ์และการคลอดลูก จํานวนครั้งของการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น 2-3 เท่า
1.4 มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟลิส และหนองใน เป็นต้น
1.5 การรับประทานยาคุมกําเนิดเป็นเวลานาน ๆ ถ้านานกว่า 5 ปีและ 10 ปีจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่าและ 2.5 เท่า ตามลําดับ
1.6 ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน
2.ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย
เนื่องจากการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV (ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบเชื้อ) แม้เพียงครั้งเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อHPV ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย ได้แก่
2.1 ผู้ชายที่เป็นมะเร็งองคชาติ
2.2 ผู้ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
2.3 ผู้ชายที่เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
2.4 ผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศตั้งแต่อายุน้อย
2.5 ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
3.ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก
3.1 การสูบบุหรี่
3.2 ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์และการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
อาการของมะเร็งปากมดลูก
อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดงอย่างเด่นชัด และตรวจพบจากการตรวจคัดกรองหรือการตรวจด้วยกล้องขยายร่วมกับการตัดเนื้อออก ตรวจทางพยาธิวิทยา อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
1.การตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการ ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็น
– เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
– เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
– มีน้ำออกปนเลือด
– ตกขาวปนเลือด
– เลือดออกหลังวัยหมดประจําเดือน
2.อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น ได้แก่
– ขาบวม
– ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบและต้นขา
– ปัสสาวะเป็นเลือด
– ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
1.การตรวจคัดกรอง มีหลาบวิธีดังนี้
1.1. ตรวจแปปเสมียร์ (Pap Smear)
1.2. การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test)
1.3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA
1.4. การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid: VIA)
2.ฉีดวัคซีน HPV หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ช่วงอายุที่แนะนําให้ฉีด HPV Vaccine หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- ประสิทธิภาพของ HPV vaccine จะสูงที่สุดในสตรี ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
- ฉีดในวัยที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จากงานวิจัยพบว่า ร่างกายของเด็กผู้หญิงสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ได้ดีในช่วง 9 – 15 ปี ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง แต่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง
- ผู้หญิงอายุ 9 – 26 ปี ควรฉีดวัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11 – 12ปี
- เด็กผู้ชายอายุ 9 – 26 ปี สามารถฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนัก เน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11 – 12 ปี
การฉีด HPV Vaccine
การฉีด HPV vaccine ให้ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ จํานวน 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กําหนดเลือก
ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 1-2 หลังจากการฉีดครั้งแรก
ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากการฉีดครั้งแรก
เอกสารอ้างอิง
- International Agency for Research on Cancer (IARC). Globolcan 2012: Available from
http://globocan.iarc.fr/ Default.aspx.
- W. Imsamran, A. Chaiwerawattana, S. Wiangnon et al. Cancer in Thailand Vol. VIII, 2010- 2012.
- สํานักนโยบายและยุทธศาสตร์ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุขหน้า 105.
- https://hdmall.co.th/c/guidelines-of-cervical-cancer-screening
- วารสารสมาคมรังสีวิทยาแห่งประเทศไทย ปีที่ 13 ฉบับ กรกฎาคม – ธันวาคม 2550
- https://www.bangkokhospital.com/content/hpv-vaccine